มอเตอร์ไซด์แบบหัวฉีด

มอเตอร์ไซด์แบบหัวฉีดกับคาร์บูต่างกันอย่างไร!?

หากว่ากันด้วยเรื่องของ “มอเตอร์ไซด์” แล้วนั้น…มีหลากหลายเรื่องราวที่เราควรศึกษาและทำความเข้าใจเอาไว้ด้วยครับ เพราะการที่เรามีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมอเตอร์ไซด์มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เราสามารถดูแลรักษาและตรวจหาข้อบกพร่องชองมอเตอร์คู่ใจของเราได้เป็นอย่างดีครับ บทความนี้จะพาทุกๆ ท่านไปพบกับความรู้เกี่ยวกับ “มอเตอร์ไซด์แบบหัวฉีดกับคาร์บู” ว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้างกันครับ

ทำความรู้จักหลักการทำงานของมอเตอร์ไซด์

หัวใจสำคัญของเครื่องยนต์ที่จะมาขับเคลื่อนล้อของมอเตอร์ไซด์นั้นคือ ห้องเผาไหม้หรือเรียกได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน ซึ่งน้ำมันเบนซินถูกทำให้ผสมกับอากาศด้วยเครื่องผสมน้ำมันเชื้อเพลิงกับอากาศ หรือคาร์บูเรเตอร์ (Carburetor) จนกลายเป็นไอ แล้วถูกส่งเข้าไปในกระบอกสูบ และไอนั้นถูกแรงอัดของลูกสูบอัดจนเหลือปริมาตรน้อยลง เมื่อหัวเทียนจุดประกายไฟออกมาเผาไหม้ไอดังกล่าว ทำให้เกิดการระเบิดในห้องเผาไหม้ จึงเกิดแรงดันผลักลูกสูบให้เคลื่อนลง จึงกลายเป็นพลังงานถ่ายทอดผ่านกลไกต่างๆ ไปขับเคลื่อนล้อให้หมุนนั้นเองครับ

เครื่องยนต์ 2 จังหวะกับ 4 จังหวะ เป็นอย่างไรกันนะ?

เครื่องยนต์ 2 จังหวะ หมายถึง เพลา ข้อเหวี่ยงหมุน 1 รอบ เครื่องยนต์ทำงานไป 2 จังหวะ ส่วนครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะ นั้นหมายถึง เพลา ข้อเหวี่ยงหมุน 1 รอบ เครื่องยนต์ทำงานไป 4 จังหวะ นั้นเอง ทำให้แรงในการขับเคลื่อนนั้นต่างกัน

ความแตกต่างของหลักการทำงานของหัวฉีดกับคาร์บู

ระบบหัวฉีด หัวฉีด”(Electronic Fuel Injection: EFI) เป็นอุปกรณ์จ่ายน้ำมันแก๊สโซลีน (เบนซิน)เข้าไปยังห้องเผาไหม้ ถือกำเนิดขึ้นมาทดแทนระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบคาร์บูเรเตอร์ โดยเจ้าหัวฉีดจะจ่ายเชื้อเพลิงออกมาเป็นฝอยละเอียดเข้าห้องเผาไหม้โดยตรง ภายใต้การควบคุมการฉีด ที่แม่นยำของกล่องอีซียู ทำให้ประหยัดกว่าระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบคาร์บูเรเตอร์

ระบบคาร์บูเรเตอร์ ตือ อาศัยแรงดูดอากาศภายในเสื้อสูบยามที่ลูกลูกสูบเคลื่อนที่ลง เป็นตัวดึงละอองน้ำมันจากคาร์บูเรเตอร์ ให้ออกมาผสมกับอากาศที่ไหลผ่านพอร์ทไอดีของตัวคาร์บูเรเตอร์ในการผสมเชื้อเพลิงกับอากาศ

ข้อดีและข้อเสียของมอเตอร์ไซด์หัวฉีดกับคาร์บูเรเตอร์

แบบหัวฉีด จะช่วยในเรื่องของการประหยัดเชื้อเพลิง มีการจ่ายเชื้อเพลิงคงที่กว่าคาร์บูและสตาร์ทง่ายทุกสภาพอากาศได้ง่ายดายกว่าแบบคาร์บูเรเตอร์ ส่วนข้อเสียนั้น ถ้าหัวฉีดพัง ระบบที่เกี่ยวข้องอาจจะพังทั้งยวง เสียหลายบาท อีกทั้งยังจูนหรือแปลงยาก อีกทั้งกินแบตเตอรี่ เพราะหัวฉีดต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามาควบคุมสมองกลในส่วนที่ควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิงให้คงที่ตลอดเวลา ถ้าจานไฟมีปัญหาจะทำให้แก้ไขเองได้ยาก

แบบคาร์บู สามารถดูแลรักษาง่ายสามารถจูนหรือแปลงแต่งรถได้ง่ายกว่า สามารถเปลี่ยนนมหนู จูนอากาศ รอบเดินเบา ด้วยไขควงเพียงอันเดียว ไม่เปลืองแบตเตอรี่ เพราะใช้ระบบอนาล็อกในการทำงาน ระบบไฟฟ้าจะดึงไฟจากเครื่องยนต์ที่ปั่นไฟได้มาใช้งานระหว่างที่เครื่องยนต์มีการทำงานอยู่ ส่วนข้อเสียหลักๆ คือ เปลืองเชื้อเพลิง ขึ้นอยู่กับการขับขี่และการจูน สตาร์ทติดง่ายและยากขึ้นกับสภาพอากาศ (หนาวๆ ทีไรสตาร์ทติดยากมากๆ เลยหล่ะครับ)

วิธีดูแลหัวฉีดเบื้องต้น

การจุดระเบิดในห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ “อากาศ” และ “เชื้อเพลิง” ซึ่งก็คือ “น้ำมัน” หรือ “แก๊ส” สำหรับรถที่ใช้พลังงานทางเลือกอย่าง LPG หรือ NGV โดยเครื่องยนต์จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่ออากาศและเชื้อเพลิงมีอัตราส่วนที่เหมาะสม หากส่วนผสมใดมีการผิดเพี้ยนไปจากเดิมย่อมส่งผลต่อสมรรถนะของเครื่องยนต์ไม่น้อยก็มาก ซึ่งสามารถดูแลและแก้ไขได้ไม่ยากด้วยการเป่าทำความสะอาดกรองอากาศหรือเปลี่ยนใหม่เมื่อกรองอากาศที่ใช้อยู่สกปรกมากแล้ว ในส่วนนี้ผู้ใช้รถสามารถทำได้ไม่ยากด้วยตัวเอง แต่การจ่ายเชื้อเพลิงซึ่งทำหน้าที่โดย “หัวฉีด” หากวันใดที่ “หัวฉีดตันหรือสกปรก” จำเป็นต้องถอดออกมาซ่อมบำรุงโดยร้านที่ให้บริการด้านหัวฉีดจะดีที่สุด หรือเพื่อเป็นการป้องกันก่อนตัดโดยการใช้ “น้ำยาล้างหัวฉีด” ก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นกันครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับข้อมูลเกี่ยวกับ “มอเตอร์ไซด์แบบหัวฉีดกับคาร์บูต่างกันอย่างไร” ที่เราได้นำมาฝากท่านผู้อ่านกันในช้างต้น หวังว่าจะเป็นประโยชน์กันนะครับ